ประวัติพระสังกัจจายน์…พระโชคลาภ หลวงพ่อตัด วัดชายนา

พระสังกัจจายน์…พระโชคลาภ

พระสังกัจจายน์ เป็นพระมีพุทธลักษณะอ้วน พุงพลุ้ย มีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ โชคลาภ เป็นหนึ่งในพระสาวกผู้ใหญ่ จัดอยู่ในเอตทัคคะ 

ผู้ใดบูชาผู้นั้นได้ลาภประเสริฐแล 

พระสังกัจจายน์ที่สร้างขึ้นมาเป็นวัตถุมงคล เท่าที่ค้นพบมีมาแต่สมัยเชียงแสน ดังภาพของพระสังกัจจายน์ องค์ที่นั่งสองมือประสานอยู่ที่พุง นั่งขัดสมาธิ เป็นศิลปะสมัยเชียงแสน ค่อนข้างจะหายากสักหน่อย ในภายหลังมีพระคณาจารย์หลายท่านจัดสร้างจำลองขึ้นมา มีทั้งเนื้อโลหะ เนื้อผง

วัตถุประสงค์ในการจัดสร้างเพื่ออำนวยพรให้แก่ผู้ได้ครอบครอง มั่งมี ศรีสุข อุดมสมบูรณ์ด้วยลาภยศเงินทองนั่นเอง โดยสรุปแล้วพระสังกัจจายน์รูปร่างสมบูรณ์ เพราะไม่อด ผู้ใดมีครอบครองก็ไม่อดเช่นกัน

ในจำนวนพุทธสาวกจำนวน ๘๐ องค์ ที่เป็นเอตทัคคะมีเพียง ๔๑ องค์เท่านั้น และในจำนวน ๔๑ องค์นี้ มีการจำลองรูปมาเป็นพระพิมพ์หรือพระบูชาที่วงการนักนิยมพระเครื่องรู้จักกันนามแค่ ๓ องค์ คือ ๑. พระโมคคัลลานะ ๒. พระสารีบุตร และ ๓. พระสังกัจจายน์

ท่านที่แสวงหาวัตถุมงคล สมควรจัดหา พระสังกัจจายน์ มาบูชา เพื่อสอดคล้องกับทัศนคติแต่โบราณ ตำนานพุทธสาวกทั้ง ๘๐ องค์ กล่าวว่า พระสังกัจจายน์ เป็นบุตรของพราหมณ์ปุโรหิต กัจจานโคตร หรือกัจจายนโคตร ในแผ่นดินของพระเจ้าจัณฑปัชโชต กรุงอุชเชนี เมื่อกัจจายนะกุมารเจริญวัยเรียนจบไตรเพท บิดาได้ถึงแก่กรรม จึงได้รับตำแหน่งปุโรหิตแทนบิดา

ครั้นต่อมา พระเจ้าจัณฑปัชโชต ทรงทราบว่า พระศาสดาตรัสรู้แล้วเสด็จเที่ยวโปรดสัตว์สั่งสอน ประชุมชนธรรมะที่พระองค์สอนนั้น เป็นธรรมที่แท้จริง ยังประโยชน์แก่ผู้ประพฤติตาม จึงมีพระประสงค์ใคร่เชิญเสด็จพระบรมศาสดาไปประกาศที่กรุงอุชเชนี จึงรับสั่งให้กัจจายนะปุโรหิตไปทูลเสด็จกรุงอุชเชนี

กัจจายนะปุโรหิตพร้อมด้วยผู้ติดตาม ๗ คน จึงออกจากกรุงอุชเชนี ครั้นมาถึงจึงพากันเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา พระองค์ทรงเทศน์สั่งสอน ในที่สุดบรรลุอรหันต์ทั้ง ๘ คน หลังจากนั้นทั้ง ๘ ก็ทูลขออุปสมบท ทรงขออนุญาต ครั้นอุปสมบทแล้ว จึงทูลเชิญเสด็จกรุงอุชเชนี ตามหน้าที่ พระองค์รับสั่งว่า “ท่านไปเองเถิด เมื่อท่านไปแล้วพระเจ้าปัชโชตจักทรงเลื่อมใสท่าน”

พระกัจจายนะจึงออกเดินทางพร้อมพระอรหันต์อีก ๗ องค์ที่ติดตามมาด้วย กลับคืนสู่กรุงอุชเชนี และประการสัจธรรมให้แก่พระเจ้าจัณฑปัชโชต พร้อมชาวพระนครเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และถ้อยคำประการอันเป็นสัจธรรม

หลังจากนั้น กลับคืนสู่สำนักของพระพุทธองค์ ตรัสว่า ท่านเป็นผู้ฉลาดในการอธิบายแห่งการย่อคำพิสดาร นับจากนั้นมา พระสังกัจจายน์ก็เป็นผู้สรุปย่อคำสอนบอกแก่บรรดาสาวกทั้งหลาย ด้วยความพอใจอย่างยิ่ง ในคำย่อนั้น และยังเป็นผู้ทูลขอให้พระพุทธองค์บัญญัติแก้ไขพุทธบัญญัติบางประการ ปรากฏว่าเป็นที่พอพระทัยแก่องค์พระศาสดาเป็นอย่างมาก

พระสังกัจจายน์ เป็นผู้มีรูปงาม ผิวเหลืองดุจทอง ตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งมี โสเรยยะบุตรเศรษฐี คะนองเห็นพระสังกัจจายน์จึงปากพล่อยกล่าวว่า ถ้าเราได้ภรรยามีรูปกายงดงามเยี่ยงท่านนี้ จักพอใจยิ่ง

พลันปรากฏว่า โสเรยยะบุตรมหาเศรษฐีหนุ่มคะนองปากได้กลายเพศเป็นหญิงในทันที จึงหลบหนีไป ต่อมาได้สามีและบุตรสองคน จึงกลับมาขอขมากับพระสังกัจจายน์ โสเรยยะจึงกลับคืนสู่เพศชายเช่นเดิม นับว่าพระสังกัจจายน์มีฤทธิ์อำนาจยิ่งองค์หนึ่งในพุทธสาวก

มีเรื่องแทรกเข้ามาว่า เพราะรูปกายอันงดงามของพระสังกัจจายน์ สร้างความปั่นป่วนแก่อิตถีเพศอย่างมาก จึงได้เนรมิตกายใหม่ให้อ้วน พุงพลุ้ย น่าเกลียด เพื่อความสงบแห่งจิตและกิเลส

เรื่องราวของ พระสังกัจจายน์ พอสรุปได้ว่าเป็นพระพุทธสาวกที่มีความเฉลียวฉลาด มีความรู้ และเป็นที่โปรดของพระพุทธองค์ยิ่ง มีบารมี มีอิทธิฤทธิ์ ผู้ใดบูชาพระสังกัจจายน์จึงได้รับพรจากพุทธสาวก อันเป็นเอตทัคคะอย่างสมบูรณ์

พระสังกัจจายน์ในพระเครื่อง อาจจะด้วยตำนานพุทธประวัติ เกี่ยวกับพุทธสาวกทั้งหลาย ๘๐ องค์ เอตทัคคะ ๔๑ องค์ พระสังกัจจายน์จึงถูกนำมาสร้างจำลองขึ้นอีกองค์หนึ่ง เพื่อแสดงความหมายถึงอันอุดมสมบูรณ์ด้วยลาภ ยศ ความเจริญ

ด้วยเหตุนี้ พระสังกัจจายน์จึงสร้างจำลองอย่างโดดเดี่ยวออกมาในแบบพระบูชา และพระเครื่องมากมายหลายคณาจารย์ด้วยกัน

จากการค้นพบในกรุพระเชียงแสน พบพระสังกัจจายน์ ทำให้น่าเชื่อว่าการสร้างพระสังกัจจายน์นั้น มีการสร้างมาแล้วในสมัยเชียงแสน ลพบุรี กลางสมัยอยุธยาเรื่อยมา จนถึงในต้นรัตนโกสินทร์

ในด้านพระเกจิอาจารย์ รูปจำลองพระสังกัจจายน์ของ หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน จ.พิจิตร ได้รับความนิยมสูง แต่ก็ยังเรียกกันว่า รูปเหมือนหลวงพ่อเงิน ทำนองเป็นรูปจำลองของหลวงพ่อเงินจริงๆ

โดยข้อเท็จจริงแล้ว พระหลวงพ่อเงิน ที่เช่าหาราคาแพง ในทุกวันนี้เป็น รูปจำลองของพระสังกัจจายน์ ที่ถูกต้อง

พระพิมพ์รูปแบบของ พระสังกัจจายน์ ส่วนมากมีจัดการสร้างในกรุงเทพฯ เช่น กรุวัดท้ายตลาด กรุวัดเงินคลองเตย และ พระพิมพ์ของหลวงปู่ภู วัดอินทรวิหาร เป็นต้น ในต่างจังหวัดไม่ค่อยปรากฏ ในต้นรัตนโกสินทร์ ในยุคกลาง พอมีการจัดสร้างกันมาบ้าง

ลักษณะของพระสังกัจจายน์ โดดเด่นมองเห็นก็รู้ว่าเป็นพุทธสาวกองค์ไหน เมื่อสรุปแล้วจะเห็นว่าพุทธสาวกจำนวน ๘๐ องค์ พระเอตทัคคะ ๔๑ องค์นั้น มีเพียงพระสังกัจจายน์เท่านั้นที่สร้างอย่างโดดเด่น

ส่วนพระโมคคัลลา-พระสารีบุตร จะต้องสร้างเป็นพระสาม มีพระพุทธองค์และขนาบด้วยพระพุทธสาวกทั้งสอง ทำให้น่าคิดว่าเคยพบพระกรุ หรืออย่างพระพิมพ์มเหศวร จ.สุพรรณบุรี อาจจะเป็นพระโมคคัลลา พระสารีบุตร ก็ได้ เพราะมีพระสององค์

พระพุทธรูปจำลอง ในแบบพระบูชาก็ดี หรือแบบพระเครื่องก็ดี ที่มีสององค์นั้นไม่น่าจะเป็นพระพุทธองค์ เพราะพุทธองค์ไม่มีพี่ไม่มีน้อง 

ในวงการพระเครื่อง พุทธสาวกที่ถูกนำมาสร้างเพื่อเป็นพุทธบูชา มีเพียงองค์เดียวที่โดดเด่นไม่ถกเถียงคือ พระสังกัจจายน์ องค์นี้เท่านั้นที่ยุติได้ ทั้งแบบมหายาน หินยาน นิยมการสร้างมาก แบบจีนนิยมสร้างมากกว่าในเมืองไทย มีวัดจีนหลายวัดที่สร้างพระสังกัจจายน์ใหญ่ เป็นเนื้อโลหะ เครื่องเคลือบ สมัยเช็งเตาปังโคย กังไส ก็เคยพบพระสังกัจจายน์ในจำนวนมาก พระอรหันต์ทั้ง ๑๘ องค์ รวมพระสังกัจจายน์ไว้ด้วยอีกหนึ่งองค์ 

ผู้ใดบูชา “พระสังกัจจายน์” ย่อมเป็นมหามงคลอุดมด้วย ลาภ ยศ ความเจริญรุ่งเรืองดีนักแล