ประวัติย่อ พ่อท่านเขียว กิตฺติคุโณ ( พระครูอนุศาสน์กิจจาทร )

พ่อท่านเขียว กิตฺติคุโณ ( พระครูอนุศาสน์กิจจาทร )
วัดอรัญวาสิการาม ( วัดห้วยเงาะ )


เกิดเมื่อปีพ.ศ.2472 ณ.ตำบลหน้าถ้ำ อ.เมืองจ.ยะลา โยมบิดาชื่อนายทอง เพ็ชรภักดี
โยมมารดาชื่อ นางกิ๊ม เพ็ชรภักดี ถือกำเนิดในครอบครัวชาวนาในจังหวัดยะลา เป็นบุตรคนที่ 3 จากจำนวนทั้งหมด 7 คน ดังนี้

1. นาย เชือน เพ็ชรภักดี ( ถึงแก่กรรมแล้ว )
2. นาย แก้ว เพ็ชรภักดี ( ถึงแก่กรรมแล้ว )
3. พ่อท่านเขียว กิติคุโณ ( นามเดิม เขียว เพ็ชรภักดี )
4. นายชื่น เพ็ชรภักดี ( ถึงแก่กรรมแล้ว )
5.นายแจ๊ก เพ็ชรภักดี ( ถึงแก่กรรมแล้ว )
6.นายสมใจ เพ็ชรภักดี( ถึงแก่กรรมแล้ว )
7.นาง สาว เพ็ชรภักดี

ช่วงชีวิตในวัยเยาว์ของท่าน ดำเนินไปเฉกเช่นวิถีชาวบ้านในต่างจังหวัดทั่วไป หลังจากจบ ป.4 บิดาท่านได้ถึงแก่กรรม ท่านก็ต้องออกมาทำงานช่วยครอบครัว เพื่อเลี้ยงแม่และน้องๆ ซึ่งท่านก็สู้อดทนรับจ้างทำงานทุกอย่าง จนกระทั่งอายุได้ 20 ปี จึงบรรพชาอุปสมบท ตามประเพณีนิยม ณ.วัดนางโอ ปัจจุบันคือวัดบุพนิมิตร อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ.2492 ณ.พัทธสีมา วัดนางโอ โดยมี พระครูมนูญสมณการวัดพลานุภาพเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการแดง ธมฺมโชโต วัดนาประดู่ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการทอง จนฺทโชโต วัดภมรคติวันเป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระอธิการดำ ติสสโร เจ้าอาวาสวัดนางโอในขณะนั้น เป็นประธานสงฆ์ พระสงฆ์หัตถบาส เป็นพระอาจารย์ ที่ประสิทธิ์ประศาสน์ วิชาความรู้และพระเวทย์ต่างๆ ให้พ่อท่านเขียวมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นฆาราวาส เมื่ออุปสมบทครองผ้าเหลือง พ่อท่านเขียว ได้จำพรรษาอยู่วัดนางโอ โดยท่าน ได้ใช้เวลาที่ว่างจากกิจของสงฆ ์เล่าเรียนการสวดมนต์ในบทสำคัญต่างๆ รวมถึงการสวดภาณยักษ์ในแบบฉบับของภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันไม่ค่อยได้พบกันมากๆ เหมือนก่อนแล้ว กระทั่งพรรษา 2 ท่านได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดสุนทรบัญชาราม อ.รามัญ จ.ยะลา พรรษาที่ 3 พ่อท่านเขียว ได้ย้ายกลับมาจำพรรษาที่วัดนางโออีกครั้ง ได้ศึกษาวิชาอาคมต่างๆ กับ “ตาเลี่ยม”ฆาราวาสที่เชี่ยวชาญ ด้านวิปัสสนา อีกทั้งสรรพวิชาจากผู้เรืองพระเวทย์วิทยาคม ในเขตนั้นอีกจำนวนนับไม่ถ้วนซึ่ง ในทางธรรม ท่านปฏิบัติเคร่งครัด ศึกษาด้านปริยัติธรรมบาลีไวยากรณ์และนักธรรม รวมถึงการสวดมนต์ สาธยายธรรม ด้วยเหตุนี้เอง พ่อท่านเขียวท่านจึงสามารถ สวดปาฏิโมกข์ได้ตั้งแต่ในพรรษาที่ 5 พ่อท่านเขียว สอบได้นักธรรมโทและต่อมา ท่านได้รับตำแหน่ง รักษาการเจ้าอาวาส วัดนางโอ จนกระทั่งได้เป็นเจ้าอาวาสในลำดับต่อมา ในระหว่างนี้ท่านเองเป็นสหธรรมมิกกับ “พระอาจารย์ทิม วัดช้างไห้ ” ด้วยความสนิทสนม ชอบพออัธยาศัยไปมาหาสู่กันเสมอ ระยะทางระหว่างวัดทั้ง2 ไม่ไกลกันโดยร่วมสังฆกรรม สนทนาธรรม ร่วมพิธีกรรมต่างๆกันเสมอ โดยเฉพาะเมื่อคราวที่ท่านอาจารย์ทิม วัดช้างไห้ สร้างหลวงปู่ทวดเนื้อว่านปี2497 เพื่อแจกแก่ผู้ที่ร่วมสร้างพระอุโบสถ วัดช้างไห้นั้น พ่อท่านเขียว เป็นผู้หนึ่งที่คลุกเนื้อผสมว่าน และ ร่วมอยู่ในพิธีกรรมเจริญพุทธมนต์ ในระหว่างที่ท่านอาจารย์ทิม อัญเชิญดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ของหลวงปู่ทวด เพื่อปลุกเสกพระเครื่องเนื้อว่านในคราวปี2497 และร่วมพิธีกรรมปลุกเสกอีกหลายวาระจนเมื่ออาจารย์ทิมท่านมรณภาพแล้ว ยังมีพิธีกรรมที่สำคัญอีก 1 วาระ คือปลุกเสกหลวงปู่ทวดเนื้อว่านปี 2524 ปัจจุบันเป็นที่เสาะหากันมาก เพราะมีประสบการณ์คุ้มภยันตราย แคล้วคลาดปลอดภัยแก่ผู้ที่นับถือนอกจากนี้ ยังได้รับนิมนต์ ไปปลุกเสกวัตถุมงคลต่างๆ ในหลายพิธีตลอดมาทั้งไกลและใกล้จนถึงปัจจุบัน นับว่าพ่อท่านเขียว เป็นพระเกจิสำคัญถือเป็นเพชรอีกรูปหนึ่ง แห่งเมืองใต้ เลยทีเดียวส่วนหลักฐานสำคัญ อีกรูปที่รับรองพ่อท่านเขียว ว่าปลุกเสกหลวงปู่ทวดเดี่ยวเพียงลำพังรูปเดียวได้ดีคือท่านอาจารย์นอง วัดทรายขาว ท่านกล่าวไว้กับศิษย์ใกล้ชิดที่ร่วมรับรู้หลายท่าน ถือเป็นหลักฐานรับรองที่สำคัญ อีกประการหนึ่งในราวปี2500 พ่อท่านเขียวได้ตรวจสอบธรณีสงฆ์รอบวัดนางโอ พบการรุกล้ำที่วัดของชาวบ้านละแวกวัด ทำให้ชาวบ้านเหล่านั้นไม่พอใจ กระทบกระทั่งกันหลายวาระ ในที่สุดพ่อท่านเขียว จึงตัดสินใจ ออกจากวัดไปจำพรรษา ที่วัดภมรคติวัน และที่วัดนี้ก็มีปัญหาเดียวกันกับวัดนางโอ ท่านจึงย้ายวัดไปจำพรรษาที่วัดนาประดู่อีกครั้ง และในระหว่างนี้ท่านอาจารย์ธีร์เจ้าอาวาสวัดห้วยเงาะ ในเวลานั้น จึงได้มานิมนต์ท่านไปอยู่ด้วยกันเสียที่วัดห้วยเงาะ เนื่องด้วยพรรษาท่านมากจะได้ดูแลและไม่ต้องพบกับภาระเหนื่อยหนักอีก พ่อท่านเขียวท่านเป็น พระสงฆ์ที่มัธยัสถ์อดออมและรักสันโดษ ท่านชอบการอ่านหมั่นศึกษาหาความรู้ในทุกๆด้านไม่ว่าจะเป็นด้านกฏหมายบ้านเมือง การเกษตรกรรม โหราศาสตร์ สมุนไพรกลางบ้าน รวมถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ ในอันที่จะนำไปสงเคราะห์ผู้อื่นได้ พ่อท่านมีเมตตาสูงกับเหล่าศิษย์ และผู้ที่ไปขอให้ท่านเสกเป่าบรรเทาทุกข์ แก้ไขสิ่งที่ขัดข้องในชีวิต ท่านเมตตาเสมอเหมือนกันหมด ไม่ว่ายากดีมีจนมาจากไหนไม่ว่าจะไกลหรือใกล้ โดยไม่แบ่งแยกไม่เคยเรียกร้องสิ่งใด และท่านไม่จับ หรือรับเงินที่มาถวายเลย พ่อท่านไม่เคยสนใจลาภสักการะต่างๆ ใครไปให้ท่านช่วย พอจะลากลับหากถวายเงินท่าน พ่อท่านจะนิ่งเฉย และถามกลับว่า “เอามาให้เราทำไร ท่านเป็นพระไม่ต้องใช้ หากจะทำบุญก็นำไปใส่ตู้บริจาคภายในวัดตรงไหนก็ได้” นี่คือสิ่งที่หลายท่านได้พบและหากได้รับวัตถุมงคล จากมือพ่อท่าน คือการแจกทั้งสิ้น ไม่มีการเช่าหาแต่อย่างใดๆ นั่นคือสิ่งที่ทุกท่านได้รับเหมือนๆ กันเมื่อได้ไปกราบนมัสการท่านถึงวัด

ปัจจุบัน พ่อท่านเขียว กิติคุโณ สิริอายุได้ 80 ปี 60 พรรษา จำพรรษา ณ. อรัญวาสิการาม (วัดห้วยเงาะ ) ต.ทุ่งพลา อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี

หลวงปู่ทวดที่ท่านปลุกเสก

การปลุกเสกหลวงปู่ทวด พ่อท่านรู้กรรมวิธีเป็นอย่างดีทั้งในการทำเนื้อ ผสมเนื้อว่าน ในปัจจุบัน วัดห้วยเงาะ ก็ยังสืบทอดและทำตามแบบเดิมแต่โบราณ อยู่ถือว่าครบเครื่องไม่มีสิ่งบกพร่องสูตรเนื้อว่านอันเป็นเอกลักษณ์นี้ยังใช้ในพระเครื่องหลายๆพิมพ์ของวัดด้วยท่านเคยกล่าวไว้เป็นการเฉพาะในหมู่ศิษย์ใกล้ชิดว่า
ในส่วนของการปลุกเสกหลวงปู่ทวดนั้นถ้าผู้สร้างนำมาให้ท่านปลุกเสกแต่แรกเริ่มจะกระทำได้ง่าย เพราะในความเป็นจริง การปลุกเสกรูปเหมือนหลวงปู่ทวด ก็ต้องอัญเชิญท่านเป็นผู้มาประสิทธิให้เป็นสำคัญ เนื่องจากเป็นรูปเหมือนของท่าน ต้องอัญเชิญท่านเป็นลำดับแรกเสียก่อน การอฐิษฐานจิตอย่างอื่นจึงค่อยตามมา แล้วจะให้ผลดีที่สุด มีหลายรุ่นที่นำมาให้ท่าน ปลุกเสกท่านต้องนั่งปลุกเสกนานนับชั่วโมง เนื่องจากต้องถอดทั้งวิชาที่เป็นไสยเวทย์ทั้งไสยขาวไสยดำ ที่ผู้ปลุกเสกอื่นๆ ก่อนหน้านั้นทำมากก่อนตั้งแต่เหนือจรดใต้ แล้วจึงเริ่มทำการอัญเชิญหลวงปู่ทวดมาเป็นองค์ปฐมก่อนถึงจะได้ผลดีถูกต้องตามวิธีการดั้งเดิม ใครไปมาหาสู่ท่านแล้วคล้องหลวงปู่ทวดคุ้มกาย ท่านจะถามเสมอว่าลองเอาของที่ท่านปลุกเสกไปใช้บ้างหรือยัง และในเวลานี้เอง หลายท่านก็จะได้รับพระเครื่อง รูปเหมือน หลวงปู่ทวดจากท่าน 1 องค์เสมอ