เบี้ยแก้ เครื่องราง ของกันคุณไสยมีไว้ปลอดภัยสบายใจดี

รายละเอียด: เบี้ยแก้ เป็นเครื่องราง…อย่างหนึ่งของไทยที่คุ้นหูในสมัยก่อน แต่สมัยนี้ ไม่ค่อยมีคนรู้จักกันแล้ว เกจิอาจารย์ท่านสร้างจากการบรรจุปรอท ที่ปลุกเสกแล้ว เข้าไว้ในตัวเบี้ยจั่น แล้วหาวิธีอุดไว้ไม่ให้ ปรอทหนีออกมาข้างนอก

เวลาเขย่าจะได้ยินเสียงปรอทกระฉอกไปมาเสียงดังขลุกๆ ชัดบ้างไม่ชัดบ้าง เสียงหนักเบาขึ้นอยู่กับปริมาณมากน้อยของปรอทที่บรรจุ

เสียงขลุกๆของปรอท ยังขึ้นอยู่กับฤดูกาล ถ้าเบี้ยแก้ตัวที่บรรจุปรอทมาก เขย่าในฤดูร้อน มักไม่ได้ยินเสียง แต่ถ้าเขย่าในฤดูหนาว เสียงจะดังฟังชัดเจน

เบี้ยแก้บางตัว มีเสียงขลุกไพเราะ ขลุกหลายจังหวะ มีเสียงหนักเบาสลับกันไป เหมือนนักร้องมีลูกคอหลายชั้น หรือนกเขาเสียงคู่ เสียงเอกที่มีลูกเล่นหลายชั้น

เบี้ยแก้ที่ขึ้นชื่อ มีหลายสำนัก หนังสือเปิดตำนานเครื่องรางของขลังเมืองสยาม คุณ สมชาย โตมั่น มีรายละเอียดว่า แต่ละสำนัก มีวิธีบรรจุปรอทและวิธีอุดต่างกัน

เบี้ยแก้ของหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว นครชัยศรี เมื่อท่านบรรจุปรอทลงในเบี้ยจั่นแล้ว ก็เอาชันโรงใต้ดินที่ปลุกเสกแล้ว อุดยาบริเวณปากร่องใต้ท้องเบี้ย แล้วจึงหุ้มด้วยผ้าแดงลงอักขระเลขยันต์

จากนั้นก็เอาด้ายถักหุ้ม ใช้ลวดทองแดงขดเป็นห่วงไว้คล้องคอหรือร้อยเชือกคาดเอว

เบี้ยแก้สำนักที่ขึ้นชื่อไม่แพ้หลวงปู่บุญ คือเบี้ยแก้หลวงปู่รอด วัดนายโรง อ.ตลิ่งชัน กทม. วิธีหุ้มเบี้ยด้านดอก อาจดูคล้ายกัน แต่ ด้านในแตกต่างกัน ของหลวงปู่รอดใช้แร่ตะกั่วหุ้ม แล้วลงอักขระลงบนพื้นตะกั่วรอบตัวเบี้ย

คุณไชยรัตน์ โมไนยพงศ์ เป็นผู้หนึ่งที่สนใจศึกษาเบี้ยแก้ รวบรวมไว้ในหนังสือเครื่องรางของขลัง เท่าที่คุณไชยรัตน์สังเกต ยันต์ที่ลงมีทั้งยันต์ที่เป็นคาถาและยันต์ตาราง ยันต์ตารางมีทั้งสี่ช่องและเก้าช่อง

เบี้ยแก้ตัวหนึ่ง คุณไชยรัตน์มั่นใจว่า เป็นของหลวงปู่บุญ เชือกที่ถักหุ้มผุกร่อนชำรุด จนหมดสภาพ เมื่อเปิดออกจึงเห็นยันต์ที่กำกับใต้ท้อง เป็นยันต์พุทธซ้อน และยันต์ท้อรันโต

ยันต์ท้อรันโต ดีทางคงกระพัน ยันต์พุทธซ้อน ดีทุกด้าน หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ หลวงพ่อศุข วัดมะขามเฒ่า ใช้เป็นยันต์ครู

นอกจาก 2 สำนักนี้แล้ว ยังมี เบี้ยแก้วัดคฤหบดี วัดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตรงข้ามท่าเทเวศร์ คุณสมชาย โตมั่น ยังตามสืบสาวไม่ได้ชัดเจนว่าหลวงพ่อชื่อใดสร้าง

แต่นัยว่า ท่านเป็นศิษย์หลวงปู่รอด วัดนายโรง ตัวเบี้ยเล็กกว่า และเบากว่า 2 วัดรุ่นอาจารย์ เส้นด้ายที่ถักหุ้มตัวเบี้ย หยาบกว่า มีทั้งลงรัก ปิดทอง และลงยางมะพลับ

ลักษณะการหุ้มตัวเบี้ย เป็น 2 แบบ แบบแรกถักหุ้มทั้งตัวเบี้ย แบบที่ 2 ถักเหลือเนื้อเป็นวงกลมไว้หลังเบี้ย

เสียงขลุกของปรอท มีจังหวะและน้ำหนักต่างจากสำนักวัดกลางฯและวัดนายโรง

วิชาทำเบี้ยแก้ไม่แพร่หลายนัก นอกจาก 3 สำนักนี้แล้ว ยังมีเบี้ยแก้อีก 3 สำนักที่อ่างทอง แต่เพราะเบี้ยแก้มีจำนวนน้อย ประวัติการสร้างจึงไม่ค่อยชัดเจน

เบี้ยแก้วัดนางใส อยู่หลังตลาด อำเภอวิเศษชัยชาญ ประวัติเท่าที่พอสืบสาวได้ หลวงพ่อผู้สร้าง มรณภาพไปนานแล้ว เป็นพระอุปัชฌาย์หลวงพ่อโปร่ง เจ้าอาวาสวัดท่าช้าง ปัจจุบัน

เบี้ยแก้วัดนางใสไม่ได้ถักด้ายหุ้ม อุดด้วยชันโรงใต้ดินแล้วก็ให้หุ้มเลี่ยมด้วยเงิน ทอง หรือนาก เหลือเนื้อเบี้ยเป็นวงกลมไว้ด้านหลัง

เบี้ยแก้วัดโพธิ์ปล้ำ ต.ท่าช้าง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง หลวงพ่อผู้สร้างเป็นอาจารย์ หลวงพ่อโปร่งเช่นเดียวกัน

เบี้ยแก้วัดท่าช้าง…ต.สี่ร้อย อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง หลวงพ่อโปร่ง ปัญญาธโร เจ้าอาวาสปัจจุบันสร้างไว้ ลักษณะเบี้ยแก้เหมือนของ 2 อาจารย์ผู้ประสาทวิชาให้

มีคนโบราณเขียนถึงสรรพคุณของเบี้ยแก้ไว้ว่า…

เบี้ยแก้ตัวนี้สำคัญนัก พ่อค้าแม่ขายจักหมั่นไหว้บูชา จะไต่เต้าเจ้าสัวแสนทะนาน ลาภเต็มห้อง ทองเต็มไห ขุนนางใดมีไว้ในตัว ดีนักแล จะให้คุณเป็นถึงท้าวเจ้าพระยา พานทอง……..

คุณสมชาย โตมั่น บรรยายทิ้งท้ายไว้ว่า

เบี้ยแก้เป็นอิทธิวัตถุชั้นหนึ่ง เตือนใจให้สะดุ้งกลัวภัยที่มองไม่เห็น หากบุคคลใด

มีไว้เป็นสมบัติ นำติดตัวโดยคาดไว้กับเอวหรือโดยประการอื่น ย่อมปกป้องภยันตรายได้ทั้งปวง

เป็นเมตตามหานิยม แคล้วคลาด มหาอุดคงกระพันทุกประการ คุ้มกันเสนียดจัญไร คุณไสย ยาสั่งและการกระทำย่ำยี ทั้งหลายทั้งปวงได้ชะงัด…นักแล.





อีกข้อมูลหนึ่งที่ให้มาศึกษากันของสายหลวงปู่บุญวัดกลางบางแก้ว
เบี้ยแก้คืออะไร

เบี้ยแก้ คือ เครื่องรางชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอุปเท่ห์การใช้มากมายหลายอย่าง ทั้งกันและแก้สิ่งชั่วร้ายเสนียด
จัญไร คุณไสย คุณคน คุณผี บาเบื่อ ยาเมา ทั้งหลาย คณาจารย์ยุคเก่าที่สร้างเครื่องรางประเภทเบี้ยแก้
เอาไว้มีด้วยกันหลายรูป แต่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด เห็นจะมีอยู่เพียง ๒ รูปคือ หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว
และหลวงปู่รอด วัดนายโรง นอกนั้นก็มีชื่อเสียงอยู่เฉพาะพื้นที่ เช่น หลวงพ่อพักตร์ วัดโบสถ์ จ.อ่างทอง ,
หลวงพ่อม่วง, หลวงพ่อทัต, หลวงพ่อพลอย วัดคฤหบดี บางยี่ขัน, หลวงพ่อแขก วัดบางบำหรุ, หลวงพ่อคำ
วัดโพธิ์ปล้ำ, หลวงพ่อนุ่ม วัดนางใน จ.อ่างทอง และมีอาจารย์อื่นอีกที่สร้างได้แต่ไม่แพร่หลาย

วิธีการสร้างเบี้ยแก้

เมื่อหาตัวเบี้ยมาได้แล้ว (เบี้ยพวกนี้ไม่ค่อยพบในบ้านเรา สมัยก่อนต้องหาซื้อตามร้านเครื่องยาจีน
เข้าใจว่าเบี้ยที่นำมาใช้นี้จะถูกนำเข้ามาพร้อมกับสินค้าจากประเทศจีนในอดีต…..ผู้เขียน) คณาจารย์
ผู้สร้างก็บรรจุปรอทที่ปลุกเสกแล้วเข้าไปในตัวเบี้ย แล้วหาวิธีอุดมิให้ปรอทไหลออกมาได้ (ปรอทที่ใช้
นี้เป็นปรอท หรือปรอทดินโบราณมีวิธีการจับปรอทโดยนำไข่เน่าไปทิ้งไว้ในน้ำครำไม่ช้าปรอทจะกิน
ไข่เน่าจนเต็ม)

ปรอทมีคุณสมบัติเป็นของเหลวลื่นไหลการจะนำปรอทมาบรรจุเบี้ยแก้ คณาจารย์ผู้สร้างจำต้องมีพระเวท
เข้มขลัง เพราะต้องใช้พระเวทฆ่าปรอทหรือบังคับให้ปรอทรวมตัวกันอยู่ในเบี้ยบางราย ถึงกับบริกรรมพระเวท
เรียกปรอทเข้าในตัวเบี้ยได้เอง การปิดปากเบี้ยเพื่อกันไม่ให้ปรอทไหลออกมาได้นั้นนิยมเอาชันโรงใต้ดิน
ที่ปลุกเสกแล้วมาอุดใต้ท้องเบี้ยให้สนิทเรียบร้อย แล้วจึงหุ้มด้วยวัสดุอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ผ้าแดง แผ่นตะกั่ว
แผ่นทองแดง วัสดุที่ใช้หุ้มหรือปิดนี้ก็ต้องลงอักขระเลขยันต์และปลุกเสกกำกับด้วย เช่นเบี้ยแก้หลวงปู่บุญ
วัดกลางบางแก้วจะมีลวดทองแดงขดเป็นห่วง ๓ ห่วง เพื่อให้ใช้เชือกคล้องคาดเอว

เบี้ยแก้ที่ผ่านการบรรจุปรอทจนกระทั่งถักหุ้มเรียบร้อยแล้ว ก็ยังไม่ถือว่าเสร็จสิ้นขึ้นตอนกรรมวิธี
เพราะคณาจารย์เจ้าผู้สร้างท่านต้องปลุกเสกกำกับอีกจนมั่นใจว่าใช้ได้จริงๆ แล้วเล่ากันว่า คณาจารย์บางรูป
สามารถปลุกเสกเบี้ยแก้ จนกระทั่งตัวเบี้ยคลานได้ เรื่องนี้ไม่ใช่ผู้เขียนเขียนขึ้นมาเอง หากแต่ได้รับการบอก
เล่าจากหลวงพ่อพระครูรัตนโสภณ เจ้าอาวาสวัดบางบำหรุ ซึ่งท่านกรุณาเล่าว่า สมภารฉายอาจารย์ของท่าน
และเป็นเจ้าอาวาสวัดบางบำหรุก่อนท่านเคยสร้างเบี้ยแก้เอาไว้ และสามารถปลุกเสกเบี้ยแก้จนตัวเบี้ย
คลานได้เหมือนหอย เมื่อเขียนมาถึงตรงนี้ ก็จะเข้าประเด็นที่ ขึ้นต้นเอาไว้ว่า

หลวงปู่บุญท่านได้รับการถ่ายทอดวิชาเบี้ยแก้มาจากท่านใด

ตามทัศนะของผู้เขียน ไม่เห็นด้วยกับข้อมูลที่บอกว่าหลวงปู่บุญ ท่านเรียนเบี้ยแก้มาจากหลวงปู่แขก
ซึ่งบางท่านบอกว่าเป็นชีปะขาวบางท่านบอกว่าเป็นสมภารวัดบางบำหรุ และยังระบุต่อไปอีกว่า หลวงปู่แขก
ที่กล่าวถึงนี้เป็นอาจารย์ของหลวงปู่รอด วัดนายโรง

ตามข้อมูลที่ผู้เขียนสืบค้นได้นั้น หลวงปู่รอดวัดนายโรง ท่านมีชีวิตอยู่ก่อนหน้าหลวงปู่แขกนานนัก
และหลวงปู่แขกที่ว่านี้ ก็มิได้เป็นชีปะขาว หากแต่เป็นสมภารวัดบางบำหรุต่อจากสมภารพรหมเจ้าอาวาส
วัดบางบำหรุรูปแรก เท่าที่มีประวัติคือ สมภารพรหมครองวัดบางบำหรุอยู่ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๖-๒๔๖๑
ถัดมาก็เป็นสมภารแขกซึ่งบอกไว้แต่เพียงว่าตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๖๑ ถัดจากสมภารแขกก็เป็นสมภารฉาย
ครองวัดอยู่จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๐ หากจะคำนวณอายุดู หลวงปู่แขกไม่น่าจะมีอายุแก่กว่าหลวงปู่บุญ
อย่างมากก็คงจะรุ่นราวคราวเดียวกัน หรืออาจจะอ่อนกว่าเสียด้วยซ้ำเพราะหลวงพ่อรัตน์เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า
“เมื่อท่านยังเป็นเด็กวัดอยู่นั้น สมภารแขกมี ชื่อเสียงโด่งดังมาก อายุขณะนั้นประมาณ ๗๐-๘๐ ปี หากนับ
ถึงปัจจุบันก็คงจะรุ่นๆ เดียวกับหลวงปู่บุญ จึงเป็นไปไม่ได้ที่สมภารแขกจะเป็นอาจารย์ของหลวงปู่รอด
และหลวงปู่บุญ แต่อาจเป็นไปได้ว่า หลวงปู่รอดที่เป็นอาจารย์ถ่ายทอดวิชาเบี้ยแก้ให้กับหลวงปู่บุญ
และหลวงปู่แขก เพราะหลวงปู่รอดนั้นท่านมีอายุนั้นในรุ่นหลังของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ไม่มากนัก
(คงมีอายุห่างจากสมเด็จฯ ประมาณ ๓๐ ปี-ผู้เขียน)

ตามหลังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักรซึ่งกรมาการศาสนาเป็นผู้จัดพิมพ์นั้น ระบุว่าหลวงปู่รอดเป็น
สมภารรูปแรกของวัดนายโรง เพราะฉะนั้นในกระบวนเบี้ยแก้ทั้งหมดเท่าที่พบเห็นกันอยู่ต้องถือว่า เบี้ยแก้
ของหลวงปู่รอดวัดนายโรงเก่าแก่ที่สุด ส่วนสาเหตุที่น่าเชื่อว่าหลวงปู่แขกกับหลวงปู่บุญ มีความสัมพันธ์
กันก็เพราะว่า พื้นเพเดิมของหลวงปู่แขกนั้น ท่านเป็นชาวนครชัยศรีเช่นเดียวกับหลวงปู่บุญจึงน่าจะเป็น
ไปได้ว่า หลวงปู่บุญท่านอาจจะไปมาหาสู่กับหลวงปู่แขก และได้มาทราบกิติศัพท์และเกียรติคุณของ
หลวงปู่รอด วัดนายโรง เมื่อคราวมาเยี่ยมหลวงปู่แขกที่วัดบางบำหรุ จึงได้ขอเรียนวิชาทำเบี้ยแก้กับ
หลวงปู่รอด

อนึ่งหลวงพ่อรัตน์วัดบางบำหรุเล่าว่า สมภารพรหม เจ้าอาวาสวัดบางบำหรุก่อนหลวงปู่แขกก็อยู่ใน
ฐานะศิษย์ของหลวงปู่รอด วัดนายโรง เอาละครับผู้เขียนขอเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างเบี้ยแก้
ของหลวงปู่บุญไว้เพียงเท่านี้ ผิดถูกเท็จจริงประการใดขอให้อยู่ในดุลยพินิจของท่านผู้รู้ทั้งหลายด้วย

อิทธิคุณและพิธีกรรมการใช้เบี้ยแก้

ข้ออธิบายต่อไปนี้ คัดลอกจากต้นฉบับเดิมของวัดกลางบางแก้ว เพื่อให้ท่านที่มีเบี้ยแก้ได้ทราบถึง
อิทธิคุณและการใช้อย่างถูกต้อง อันจะบังเกิดผลดีแก่ผู้ใช้

– ป้องกันอัตวิบากกรรม แก้ภาพหลอน จิตรหลอน ภาพอุปทาน แก้อำนาจภูผีปีศาจ อาถรรพณ์เวททำให้
มัวเมาขลาดกลัว ขนพองสยองเกล้า ลมเพลมพัด คุณไสย คุณผี คุณคนทั้งปวงอุบาทวเหตุ อุบาทวภัย
ทั้งปวง มัวเมายาพิษ ยาสั่งทั้งหลาย ไข้ป่า ไข้ป้าง ไข่ผีป่า ผีโป่ง ผีปอบ ต้องกระทำจากภูตผี ผีพราย
ผีตายโหง กองกอยวิกลจริต จิตวิกลวิกาล วิญญาณ อุปาทานวิกลเหมือนผีเข้าเจ้าสิงสู่ปราศจากสิ้นแล

– ให้อธิษฐานเอาน้ำมนต์ เอาดอกพุทธรักษาดอกไม้ ดอกเข็มแดงหลากสี ตั้งขันธูปเทียน ขันห้า
ข้าวตอก ดอกไม้แก้บาทวพิษ บาทยัก อัมพาต บาดแผล ฝีมะเร็ง ฝีคุณ หัวพิษ หัวกาฬ ทรางชัก
รางขนพอง สันนิบาตลูกหมา ลูกนก หลังแอ่น คางแข็ง บ้าหมู ภายนอกภายใน อาบกินด้วย ตั้งจิตหน่วงลง
ในคุณพระศรีรัตนตรัยใช้ได้แล

– เมื่อเข้าศึกสงครามให้เอาไว้ด้านหน้าสารพัดศัตรู บีทาย่ำรุกไล่ให้เอาไว้ด้านหลัง หาเจ้าฟ้ามหากษัตริย์
เจ้าขุนมูลนาย ให้เอาไว้ด้านข้างขวา เมื่อหาหญิง หานางพญาไว้ข้างซ้าย สารพัดศาสตรามิต้องข้างกายเลย
ดุจฝนเสนห่า ข้าวปลาอาหารเป็นพิษ คางแข็ง เคี้ยวไม่กลืนเลยแล

– ปลิงก็ดี ทากร้ายก็ดี มีในป่ามืด ในน้ำห้วยหนอง คลองบึง มันไม่เก่าะกินเลือดทั้งวัวทั้งควาย ช้างม้า
ก็ดีแล แก้งูพิษ เขี้ยวขนอน แมวเซา เห่าแก้วก็ดีมิต้องกายมาขบกัดเลยแล